ผมจำได้ว่าวันที่นัดหมายให้พบกับพี่ต่อ ตรีพร เป็นวันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม เวลาบ่ายโมงตรง โดยวันก่อนหน้านี้ คือวันที่ 10 มกราคม ผมต้องเดินทางไปส่งปลาที่ต่างจังหวัด (สุรินทร์) ดังนั้น การวางแผนเรื่องเส้นทางจึงต้องเป็นอะไรที่ระมัดระวังมาก จริงๆ ในวันนั้น ผมไม่ได้ตั้งใจที่จะค้างคืน เพราะเกรงว่าวันถัดไปจะต้องเดินทางอย่างกระชั้นชิด แต่เนื่องจากความเหนื่อยล้าทำให้ไม่สมารถขับรถ ไป-กลับ วันเดียวเกือบ 900 กม. (10 ชั่วโมงเต็ม) ได้ ดังนั้นจึงต้องจำใจพักค้างคืน 1 คืน… เช้าวันถัดมา หลังจากตื่นนอน + อาบน้ำ + ทานอาหารเช้าที่โรงแรม ผมก็ออกเดินทางในทันที ขากลับใช้เวลาเร็วหน่อย ประมาณ 4 ชั่วโมงก็ถึง กทม. ครั้ง
*** คืนนั้นผมนอนไม่ค่อยหลับ ตื่นทุกชั่วโมงเลย ตั้งแต่ 5 ทุ่ม => เที่ยงคืน => ตี 1 => ตี 2 => ตี 3 แล้วก็ ตี 5 ก่อนอีกทีก็ 6 โมงเช้า (เปิดไฟนอนทั้งคืน เพราะกลัวปี๋ ~~!!)
พอมาถึงกรุงเทพผมก็โทรหาพี่ชาติ (จากร้านตะพัด ซึ่งเป็นผู้ชวนผมให้เข้ามาเที่ยวชมที่ฟาร์มนี้) เพื่อนัดหมายเวลากันอีก พี่ชาติบอกผมว่า ช่วงบ่ายโมงตรงให้ไปเจอกันที่แยกอุดมสุข ดูเวลาแล้ว ผมยังมีเวลาอีกเกือบ 2 ชั่วโมง ดังนั้นจึงขอกลับบ้านพบหน้าพบตาคนในครอบครัวหน่อย และดูปลาในบ้านด้วยว่าไม่ได้เจอกัน 1 วัน ยังสบายดีกันหมดไหม ? ก็ดีเหมือนกัน กลับบ้านไปจะได้เตรียมตัวอะไรได้หลายๆ อย่าง… เนื่องด้วย การไปเยือนฟาร์มครั้งนี้ อาจเป็นไปได้ว่าผมจะมีเรื่องให้สอบถามไม่น้อย ครั้นเราเอง ตอนนี้ก็เริ่มมีอายุแล้ว ไม่ใช่หนุ่มแน่นเหมือนก่อน ก็เกรงว่าความจำจะไม่ดี จึงชวนน้องสาวไปด้วยเผื่อว่าจะช่วยจด Note หรือ Tips ต่างๆ ตามที่ผมบอกได้ (เสียดายที่ภรรยาไม่ว่าง เพราะตอนนั้นกำลังเก็บตัวทำ Final Presentation ของปริญญาโท) เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว ผมจึงออกเดินทางไปยังที่นัดหมายทันที
หลังจากจอดรอพี่ชาติได้ครู่หนึ่ง พี่ชาติก็ส่งสัญญาณว่ามาถึงแล้ว ดังนั้นผมจึงค่อยๆ ขับตามพี่ชาติเข้าไปจนถึงบ้านของพี่ต่อ ซึ่งที่นี่เองที่เป็นจุดเริ่มของ “ตรีพร อโรวาน่าฟาร์ม” หนึ่งในความภาคภูมิใจของคนไทย ณ ก้าวแรกที่ผมเดินเข้าไปบ้านของพี่ต่อ ก็รู้สึกได้ถึงการต้อนรับอย่างอบอุ่น เพราะพี่ต่อ และพี่หน่อย (ภรรยาคนสวย) ออกมาต้อนรับด้วยตัวเองเลย และแสดงความยินดีที่ได้รู้จักต่อกัน ทั้งผม น้องสาว และพี่ชาติ ต่างได้ชาเขียว Oishi เย็นๆ คนละขวดเพื่ออรรถรสที่ดีเยี่ยมในระหว่างที่ชมปลา… ผมกับพี่ต่อได้คุยกันอย่างถูกคอ คุยกันไปก็เดินชมฟาร์มไป ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมากมาย อีกทั้งความรู้ในมุมมองของผู้เพาะพันธุ์ในแบบที่คุยกันรู้เรื่อง เพราะใช้ภาษาเดียวกัน (ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสคุยกับเจ้าของฟาร์มหลายฟาร์มมากๆ แต่คุยไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ เพราะเขาเหล่านั้นเป็นชาวต่างชาติ สิงคโปร์บ้าง อินโดนีเซียบ้าง)
สำหรับสภาพโดยรวมของฟาร์มนี้ ผมขอกล่าวให้เพื่อนสมาชิกทราบว่า พี่ต่อมีบ่อขนาดใหญ่ประมาณ 4 x 5 เมตร ประมาณ 2 บ่อ (สำหรับเก็บพ่อแม่ปลา หรือปลาที่กำลังเตรียมพร้อมจะทำพันธุ์ได้รวมประมาณ 70 ตัว) และบ่อขนาด 3 x 3 เมตร อีกประมาณ 4 บ่อ ซึ่งเป็นที่เก็บขุนปลารุ่น (ตั้งแต่ 8 ถึง 12 นิ้ว โดยเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงๆ ละประมาณ 50 ตัว ในรุ่น และขนาดที่ใกล้เคียงกัน) หรือปลาที่คาดหวังจะเพาะได้อนาคต (เลี้ยงรวมกันเป็นกลุ่มเช่นเดียวกัน แต่จำนวนจะน้อยกว่า) และปลาที่เห็นในบ่อนี้ส่วนใหญ่จะเป็น RTG สำหรับเรื่องระบบกรอง จากภาพเพื่อนสมาชิกจะเห็นได้ว่าแต่ละบ่อมีระบบกรองของตัวเอง (กรองข้างประยุกต์) และมีการกั้นช่อง หรือมุมให้ปลาเพื่อเป็นที่หลบซ่อน ที่พักพิง หรือที่จับคู่ผสมพันธุ์ สำหรับน้ำเลี้ยงในบ่อแต่ละบ่อ ผมเห็นว่าไม่สูงมาก อยู่ที่ระดับ 30 – 45 ซม. มีการจัดสวนต้นไม้โดยรอบ หรือการวางไม้น้ำในบางจุดเพื่อเลียนธรรมชาติ ให้ปลารู้สึกอบอุ่นสบายๆ ไม่เครียด ซึ่งจริงๆ แล้วการจัดบ่อในลักษณะนี้ ผมเคยได้มีโอกาสเห็นจากฟาร์มปลาแห่งหนึ่ง พี่ต่อไม่ได้รู้สึกสงสัยที่สิ่งที่ผมเคยเห็นว่า แค่กล่าวเพียงสั้นๆ ว่า “ที่เห็นทั้งหมดนี้ เริ่มต้นที่พี่เอง”
*** ระบบการให้อากาศของแต่ละบ่อ พี่ต่อใช้วิธีธรรมชาติเช่นกันด้วยการใช้ “แรงน้ำตก” (จากทั้งขอบบ่อ จากท่อ PVC และอีกหลายรูปแบบ) เพื่อให้เกิดการไหลเวียนอย่างต่อเนื่อง นี่ล่ะครับที่มาของอ๊อกซิเจนชั้นดีเลย
*** ข้างๆ บ่อ จะมีตู้ปลาขนาด 30 นิ้ว เป็นจำนวนมาก ซึ่งพี่ต่อกำลังซ่อมแซมเพื่อใช้เป็นที่ขุน และเก็บลูกปลาในอนาคต (ตู้ชุดนี้เป็นตู้สำหรับการเพาะปอมปาดัวร์มากก่อน => ไม่ต้องสงสัยเลย ??? พี่ต่อนี่ล่ะครับ อดีตสุดยอดมือเพาะปอมปาดัวร์อันดับต้นๆ ในเมืองไทย)
http://www.aro4u.com/articles-detail/536
http://www.aro4u.com/articles-detail/537
และในกระทู้ก่อนหน้า (ตอนที่ 1 และ 2) หาก Click กลับไปดูอีกครั้งจะเห็นว่าที่รอบฟาร์ม พี่ต่อก็จะมีตู้ปลาวางเรียงรายเต็มไปหมด ซึ่งเป็นการเก็บลูกปลาที่เพิ่งเพาะพันธุ์ได้ บางตู้ก็เลี้ยงรวม บางตู้ก็แยกฟอร์ม เห็นสวยๆ อยู่หลายต่อหลายตัว (รอบต่อๆ ไปจะมีภาพแบบเรียงตู้เลย ปลาน้อยน่ารักมากๆ ครับ) แต่ต้องอดใจไว้ก่อน ไว้คุยให้เข้าขามากกว่านี้ว่าจะจีบมาเลี้ยงซักตัวเหมือนกัน ~~!! สำหรับวันนี้ พอเท่านี้ก่อนดีกว่าครับ ติดต่อชมตอนต่อไปได้เร็วๆ นี้ครับ