ต่อจากตอนที่ 3 นะครับ
http://www.aro4u.com/articles-detail/590
19. ตามมาชมในถังไฟเบอร์กันดีกว่าว่ามีอะไรอยู่ในนั้น (ขนาดถังประมาณยาว 1.5 เมตร กว้าง 70 – 100 ซม. สูง 60 ซม. เติมน้ำสูง 20 ซม.) เริ่มจาก 2 ถังแรกนะครับ เปิดฝาดูจะเห็นทองมาเลย์ไซส์เล็กอยู่ประมาณ 10 ตัว
20. อีกถังหนึ่งก็เช่น ลักษณะไม่ต่างจากถังแรก เพียงแต่ว่าเปิดออกมาแล้วเจอทองมาเลย์ที่มีขนาดใหญ่กว่าหน่อย (ชุดนี้เป็นเกรดเริ่มต้น) ถังที่แล้วประมาณ 4-5 นิ้ว แต่ถังนี้ไม่น่าจะน้อยกว่า 7 นิ้วครับ
*** ตัวถังเป็นสีน้ำเงิน แต่ภายในเป็นสีขาว ซึ่งพี่สุบินนำมาดัดแปลงเองเพื่อใช้ในการอนุบาลทองมาเลย์ขนาดเล็ก (สูตรถังขาว ซึ่งเป็นเทคนิคมาตรฐานที่เป็นที่นิยมใช้ในฟาร์มปลาต่างๆ ในปัจจุบันครับ)
21. ด้านในของ Showroom จะมีตู้อนุบาลปลาเล็กอยู่ใบหนึ่ง ซึ่งเมื่อเข้าไปดูใกล้ๆ จะเห็นว่าตู้ใบนี้แบ่งออกเป็น 2 ฝั่งๆ ซ้ายเป็นปลาเล็กที่ยังช่วยตัวเองไม่ได้ (เหลืออีก 1 ตัวที่ยังว่ายน้ำไม่ได้) ซึ่งยังอยู่ในโหลแก้ว มีถังกรองน้ำจาก Power Head คอยรินน้ำให้ไหลลงโหลแก้วให้เกิดการเคลื่อนตัวของกระแสน้ำ ทำให้ปลาได้ขยับตัวเพื่อให้อวัยวะส่วนต่างๆ แข็งแรงขึ้น => แล้วเมื่อถึงวันที่เจ้าหนูน้อยตัวนี้พร้อม และสมบูรณ์พอ เขาก็จะตะเกียกตะกายว่ายน้ำออกมาจากโหลแก้ว แล้วเข้าสู่ฝูงของพี่น้อง (ที่อยู่ในตู้ซีกขวา) ต่อไป
*** ลูกปลาทองมาเลย์ในตู้นี้ พี่สุบินยังไม่ได้ให้อาหารนะครับ ลูกปลายังคงได้รับสารอาหารจากถุงไข่แดงที่ติดอยู่ใต้ท้อง
22. ภาพนี้ก็เป็นตู้อนุบาลปลาเล็กเช่นกัน โดยแบ่งออกเป็น 3 ตู้นะครับ
– ตู้ใบที่ 1 และ 2 เป็นลูกปลาขนาดประมาณ 3 นิ้วที่ไข่แดงยุบตัวแล้ว (ว่ายน้ำได้อย่างแข็งแรงแล้ว) ซึ่งในวัยนี้ พี่สุบินจะเริ่มให้อาหารด้วยปลาเล็กๆ (หากนกยูง) ซึ่งหาได้ตามริมบ่อดินที่เพาะพันธุ์ครับ
– ตู้ใบที่ 3 เป็นลูกปลาที่มีความผิดปกติในลักษณะพิการ (อวัยวะไม่ครบ, ว่ายน้ำหัวทิ่ม และอื่นๆ) NC. เห็นแล้วก็รู้สึกสงสาร แต่ก็ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในทุกฟาร์มเพาะพันธุ์
23. พี่สุบินเล่าให้ NC. ฟังว่า เขาเพิ่งมีประสบการณ์ในการเลี้ยงปลามังกรมาเพียง 3-4 ปี โดยก่อนหน้านี้อยู่ในฐานะของผู้เลี้ยง แล้วก็เป็นผู้เลี้ยงมาโดยตลอด ซึ่งปลาอโรวาน่าที่เลือกซื้อมาเลี้ยงส่วนใหญ่จะเป็นไซส์กลางถึงไซส์ใหญ่ น้อยตัวมากๆ ที่จะซื้อมาเลี้ยงตั้งแต่ไซส์เล็ก นานวันเข้าพี่สุบินก็เริ่มหลงใหลในการเลี้ยงปลาชนิดนี้แล้วก็เริ่มเก็บสะสมปลาสวยๆ มากขึ้นเรื่อยๆ จากหนึ่งเป็นสอง จากสองเป็นสาม เป็นสี่ เป็นห้า จนกระทั่งมีปลานับเป็นสิบๆ ตัวเต็มบ้าน
แล้วอยู่ๆ วันหนึ่งพี่สุบินก็เกิดคำถามขึ้นกับตัวเองว่า “เราเองก็มีปลาใหญ่จำนวนหนึ่งแล้ว ทำไมไม่ลองทำการเพาะพันธุ์ดู ?” แม้คำถามนี้ใจหนึ่งก็รู้คำตอบอยู่ในใจว่า “ทำได้ยาก” หาผู้ที่ประสบความสำเร็จได้น้อยรายมาก แต่ด้วยความเป็นคนที่มีความมั่นใจ และพร้อมกระทำอย่างจริงจัง ประกอบกับมีความเชื่อมั่นว่าหากตั้งใจจริง ศึกษาจริง ไม่มีเรื่องอะไรที่ทำไม่ได้ ดังนั้นโครงการทำการเพาะพันธุ์จึงเริ่มขึ้น
แน่นอนครับว่า ก่อนที่จะดำเนินโครงการพี่สุบินเองก็ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลความรู้ก่อน โดยเริ่มจากการปรึกษาร้านค้า และเจ้าของฟาร์มปลาใหญ่ๆ ที่มีประสบการณ์ในการเลี้ยง และเพาะพันธุ์มาก่อน ซึ่งก็มีทั้งที่ให้กำลังใจ และบั่นทอนกำลังใจ ไม่ว่าจะเป็น “ลงทุนสูงมากนะจะไหวหรือ ? ทำไปก็ไม่สำเร็จหรอก ทำยาก ระวังขาดทุน ระวังเสียหาย เสียเวลา เอาเงินไปทิ้งน้ำเปล่าๆ” รวมถึงคำพูดอื่นๆ อีกมากมายซึ่งฟังดูแล้วไม่ได้ก่อให้เกิดกำลังใจใดๆ ขึ้นมา แต่พี่สุบินเองก็เลือกที่รับฟังในข้อมูลที่เป็นประโยชน์เท่านั้นเพื่อก่อสร้างสร้างเสริมแรงกายและแรงใจให้มีมากขึ้น
พี่สุบินใช้เวลาในการดำเนินการนานนับปีตั้งแต่วิ่งหาที่สำหรับทำฟาร์ม (ทำเลที่ตั้ง ความสงบ แหล่งน้ำ และอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์จะต้องพร้อมครบเพื่อให้ประโยชน์ต่อการอำนวยความสะดวกมากที่สุด) การจัดการถมที่ การขุดเจาะบ่อดิน การสร้างโรงเรือน การเตรียมตู้ การหาพ่อแม่พันธุ์ และอื่นๆ อีกมากมาย จนสุดท้ายวันที่พร้อมลงปลาวันแรกก็คือ เดือนมกราคม 2552
ด้วยความทุ่มเทในการศึกษาหาข้อมูลอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีทีมงานที่คอยให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด ท้ายที่สุดการเพาะพันธุ์ก็สำเร็จผล เมื่อวันหนึ่งพี่สุบินได้เห็นลูกปลาทองมาเลย์ตัวหนึ่งในบ่อเพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าทองมาเลเซีย => และภาพที่เพื่อนสมาชิกเห็นอยู่ด้านล่างนี้ล่ะครับ ก็คือปลามังกรทองมาเลย์ตัวแรกที่เป็นผลผลิตของทางฟาร์ม Bangkok Arowana Breeding Farm ตัวที่พี่สุบินมีความภาคภูมิใจมากที่สุด (เป็น Blue Base ที่งดงามมากครับ)
Note : มีเรื่องสั้นเล่าเสริมให้ฟัง จะว่าเป็นเรื่องของโชคก็ว่าได้นะครับ ก่อนหน้าที่พี่สุบินจะได้ปลาตัวนี้มา พี่สุบินได้รับมอบหมายจากผู้ใหญ่ในวงการศาสนาให้เป็นผู้ประสานงานในการสร้างวัดไทยในวัดจีน (วัดม้าขาว) ที่ประเทศจีน ซึ่งในการทำการนี้ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหญ่มาก แต่ด้วยความที่พี่สุบินมีความสามารถทางการทูต และใช้ภาษาจีนได้ ประกอบการเดินทางไปด้วยจิดใจที่ดีมีไมตรีจิต ท้ายที่สุดการเจรจาขออนุญาตสร้างวัดไทยในวันจีนก็เป็นอันสำเร็จผล และเพื่อสำเร็จแล้ว ในวันที่เดินทางกลับมาถึงเมืองไทย พี่สุบินก็ได้พบกับเจ้าหนูน้อยทองมาเลย์ตัวแรกตัวนี้ แล้วก็เรียกเจ้าทองมาเลย์ตัวนี้ว่า “ฟ้าส่งมา” (ชี้นิ้วขึ้นด้านบนพร้อมรอยยิ้ม) และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พี่สุบินก็ได้ลูกปลาทองมาเลย์ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันครับ
24. พี่สุบินบอก NC. ว่า ในการจะทำการเพาะพันธุ์ปลาอโรวาน่าให้สำเร็จผลนั้นต้องมีปัจจัยที่พร้อมอยู่ 5 ข้อก็คือ
– สำคัญมาเป็นที่หนึ่งก็ต้อง “มีใจรัก” – จะทำการเพาะพันธุ์ปลาชนิดนี้จะต้องเริ่มจากมีใจรัก เพราะจุดนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของความมุ่งมั่นตั้งใจและอดทนต่ออุปสรรคในการทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จผล
– ความพร้อมในเรื่องของ “เวลา” – จะต้องมีเวลาในการดูแล ทุ่มเทให้กับเขา
– ความพร้อมในเรื่องของ “ทุนทรัพย์” – เงินทุนต้องมี และต้องเป็นเงินเย็น (พี่สุบินกระซิบให้ฟังว่า แค่ที่เห็นเล็กๆ นี่ลงไป 10 กว่าล้านบาทแล้ว ยังไม่รวมค่าปลานะครับ แค่ค่าที่ ค่าถมดิน ค่าสร้างขุดบ่อ ล้อมรั้ว และสร้างอาคาร)
– ความพร้อมในเรื่องของ “สถานที่” – สถานที่ต้องพร้อม สภาพแวดล้อมต้องเป็นมิตรต่อปัจจัยในการเพาะพันธุ์ (ดินฟ้าอากาศ, สภาพน้ำ, แหล่งอาหาร และอื่นๆ)
– ความพร้อมในเรื่องของ “ตัวปลา” – พ่อแม่พันธุ์ปลาที่นำมาลงบ่อเพาะพันธุ์ (ไม่ว่าจะเป็นทองมาเลเซีย, ปลาแดง หรือ ทองอินโด) จะต้องมีอายุ และขนาดที่พร้อมผสมพันธุ์ โดยพี่สุบินจะพิจารณาทั้งอายุปลา และขนาดของปลา ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่งอย่างที่หลายๆ ฟาร์มให้ความสำคัญ
NC. เห็นว่าสิ่งเหล่านี้นับเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับเพื่อนสมาชิกจึงได้เรียบเรียงนำมาฝากกันครับ
25. เมื่อประมาณต้นปีที่ผ่านมา NC. เชื่อว่าหลายท่านคงเคยได้ยินข่าวของการผ่าตัดปลาอโรวาน่า “แฝดสยาม” (มีลำตัวติดกัน) ในสายพันธุ์ทองมาเลเซีย โดยฝีมือของคุณหมอหนิ่ง (รศ.สวพญ.ดร. นันทริกา ชันซื่อ – ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) โดยคุณหมอหนิ่งสามารถผ่าตัดช่วยชีวิตเป็นผลสำเร็จได้ทั้ง 2 ตัว รายละเอียดสามารถอ่านได้ตาม Link ที่แนบมานี้นะครับ (ขอขอบคุณ Arowana Thailand มา ณ ที่นี้ด้วย)
http://www.pantown.com/board.php?id=20452&…=63&action=view
ในเวลานั้น เจ้าหนูน้อยคู่นั้นยังเป็นปลาเล็กเพียงแค่ 3 นิ้วเท่านั้น แต่ในเวลานี้ เขาได้เติบใหญ่ขึ้นมาเป็นปลาขนาด 8 นิ้วเต็มแล้ว และภาพประกอบที่ 24 และ 25 ที่ NC. ได้แนบมานี้ก็คือภาพปัจจุบันของเจ้าหนูน้อยทองมาเลย์ “แฝดสยาม” ที่ได้รับการผ่าตัดแยกลำตัวโดยคุณหมอหนิ่งคนเก่งของเรา ตอนนี้โตขึ้นมาก แล้วก็สวยขึ้นมาจริงๆ ครับ (หน้าตาก็เหมือนกันเป๊ะเลย)
เอาล่ะครับ สำหรับวันนี้ NC. ก็จบแต่เพียงเท่านี้ (เขียนมายาวสุดๆ) แต่เรื่องราวของ Bangkok Arowana Farm ยังไม่จบนะครับ NC. ยังมีปลาสวยจากฟาร์มนี้มาฝากอีกเป็นสิบๆ เตรียมรอชมกันต่อ “ของดี” ยังมีให้ดูอีกตรึม ไม่นานเกินรอ เร็วๆ นี้เจอกัน ~~!!