การบาดเจ็บคืออาการที่บ่งว่าปลาตัวนั้นมี “บาดแผล” เช่นเกล็ดหลุด เป็นริ้วรอย ครีบเดาะหรือหัก หางขาดหลุดเป็นชิ้น หัวแตกหรือถลอก ปากฉีก ลูกตาเป็นรอยขีดข่วน หนวดขาด และอีกหลายอาการ ที่มาของอาการบาดเจ็บมีหลายอย่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งปลาที่เพิ่งย้ายมาใหม่ๆ มักจะมีอาการตื่นซึ่งแสดงออกโดยการว่ายพุ่งไปพุ่งมา จากอาการนี้ก็มีหลายครั้งที่ปลาว่ายพุ่งสุดตัวจนปากไปชนกับตู้ตูมๆ จนปากแตกหรือบวม อักเสบเป็นแผล
การเปิดปิดไฟตู้ปลาก็เช่นกัน ปลาใหม่ๆ อาจตกใจเวลาที่เราเปิดหรือปิดไฟทุกๆ ครั้ง หรือบางตัวก็กลัวความมืดมากซะจนปิดไฟไม่ได้เลย และเมื่อเวลาตกใจปลาจะกระโดดพุ่งสวนขึ้นไปมาด้านบน ซึ่งอาจพลาดพลั้งไปชนโดนคานตู้ส่งผลให้เกล็ดอันสวยงามต้องหลุดผลอยล่วงหล่นลงมา หรือไม่ก็ครีบหัก หลักหัก การให้อาหารก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกแมลงที่ยังเป็นๆ เช่นแมลงสาบหรือจิ้งหรีด เพราะแมลงเหล่านี้หากรอดชีวิตจากการถูกกินได้มันจะสามารถไต่เกาะซิลิโคนหนีขึ้นมาที่คานด้านบนหรือตามหลืบซอกมุมต่างๆ (หรือแม้แต่เหยื่อปลาชนิดอื่นที่โยนหล่นไม่พ้นคาน) เมื่อไหร่ก็ตามที่ปลาหิวอีกครั้งแล้วมองเห็นเหยื่ออันโอชะมันก็จะกระโดดโฉบทันทีโดยไม่รู้ว่ามีกระจกคานใสกั้นอยู่ ตรงนี้คานกระจกหรือขอบฝาตู้อาจจะกระแทกและบาดปากทำให้เกิดเป็นรอยแผลลึกหรือไม่ก็หัวถลอกปอกเปิก หน้าแหก แก้มฉีกได้
NOTE : การแก้ปัญหากับปลาขี้กลัวในกรณีที่ “ตื่นไฟ” ไม่ว่าจะเป็นการเปิดหรือปิดไฟ ผมมีข้อแนะนำให้ซึ่งเทคนิคนี้เรียกว่า “การล่อไฟ” ซึ่งทำได้โดยการก่อนเปิดไฟในตู้ปลาทุกครั้งให้เปิดไฟด้านนอกก่อน (ไฟเพดาน) ซัก 10 นาทีเพื่อป้องกันปลาตกใจจากความสว่างโดยฉับพลัน และเมื่อถึงเวลาปิดก็ปิดไฟจากตู้ปลาก่อนหลังจากนั้น 10 นาทีจึงค่อยปิดไฟบนเพดานซึ่งจะช่วยลดการตกใจจากความมืดโดยฉับพลันเช่นกัน
การจัดแต่งตู้ปลาประเภทสวยงามมีหินประดับประดาหรือมีขอนไม้น้ำตั้งดูเป็นธรรมชาติเช่นกัน พวกนี้หากเราให้อาหารประเภทลอยน้ำอย่างพวกแมลงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นปลาเล็ก กุ้งฝอยหรืออาหารมีชีวิตชนิดอื่นๆ สัตว์เหล่านี้จะว่ายไปหลบตามหลีบ ซอก มุม ถ้าปลาเราอิ่มก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อไหร่ที่มันเกิดหิวขึ้นมาแล้วมองหาเหยื่อเหล่านั้นเจอล่ะก็… เป็นเรื่อง อย่างเช่นปลาเล็กที่หลบตามซอกซอยกุ้งฝอยที่เกาะตามขอนไม้หรือพื้นตู้แล้วเมื่อปลากระโจนเข้างับก็มีโอกาสครับที่งับพลาดเป้าแล้วไปโดนขอนไม้หรื
อหินแทน ถ้าแรงหน่อยปลาก็เจ็บและจะหมดอารมณ์กินไปเลย ถ้าทุ่มสุดตัวพุ่งงับแรงมากๆ แล้วพลาดเป้ากรามปลาอาจหักได้… หมดสวยเลยคราวนี้ นอกจากนี้ก็ยังมีสาเหตุอื่นๆ อีกที่ทำให้ปลาบาดเจ็บอย่างเช่นการพลาดเปิดฝาทิ้งไว้ตอนเปลี่ยนน้ำทำความสะอาดตู้แล้วปลาเกิดกระโดดสวนออกนอกตู้ลงมากระแทกพื้น หรือแม่แต่การทะเลาะเบาะแว้งกันระหว่างเพื่อนร่วมตู้ (คู่ฮิตส่วนใหญ่จะเป็นปลามังกรกับเสือตอ)
NOTE : ยังไงก็ตามแม้การบาดเจ็บของปลาจะมีที่มาจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะจากอาการตื่นตกใจของตัวเอง หรือการจัดสภาพแวดล้อมข้อตู้ ปัญหาที่เกิดกับเพื่อนร่วมตู้ รวมถึงสาเหตุอื่นๆ แต่มีอย่างหนึ่งที่เรียกว่าเป็นอาการบาดเจ็บที่ร้ายแรงที่สุดที่เกิดจากการทำร้ายตัวเองนั่นก็คือ Hyper Jumping อาการที่ว่านี้มักเกิดตอนที่ปลามีอาการตกใจสุดขีดเช่น การเปิดปิดหลอดไฟโดยฉับพลัน หรือการแกล้งตบตู้ปลาแรงๆ โดยปลาจะแสดงออกด้วยการกระโดดอย่างรุนแรงแบบไม่ลืมหูลืมตาไม่เป็นทิศเป็นทาง มั่วๆ ซั่วๆ ติดต่อกันเป็นจำนวนหลายครั้ง (10-15 ที) และเมื่อหลังการกระโดดเสร็จปลาจะมีสภาพบอบช้ำ หมดแรง ไม่มีแรงว่าย ซึม นิ่ง ที่สำคัญคือมีอาการบาดเจ็บแบบหนักเข้ามาด้วยไม่ว่าจะเป็นเกล็ดหลุดหลายเกล็ด ปากแตก ครีบหัก เดาะ หน้าถลอก และอีกหลายอย่าง ที่รุนแรงที่สุดคือ “หลังหัก” ที่อาจทำให้ปลาถึงตายได้… Hyper Jumping ส่วนใหญ่เกิดในปลาเล็กจนถึงขนาดกลาง (4”-10”) แต่ในปลาใหญ่พบได้น้อยมาก แต่หากปลาใหญ่เกิด Hyper Jumping ขึ้นมา ความเสียหายจะรุนแรงมากขึ้นจนเมื่อเจ้าของปลาได้เห็นอีกครั้ง อาจรับกับความสูญเสียไม่ได้เลย
ปลาที่มีอาการบาดเจ็บอาจจะไม่ค่อยว่ายหรือไม่ยอมกินอะไรไปซักช่วงเวลานึง ตรงนี้ก็ไม่ต้องวิตกกังวลอะไรไป ยังไงก็ตามหากมี “บาดแผล” เกิดขึ้นแล้วล่ะก็ต้องดูก่อนว่ารุนแรงแค่ไหน ? หากไม่แรงมากแค่เพียงเกล็ดเล็กหลุดนิดหน่อย แผลถลอกตื้นๆ หรือมีรอยขีดข่วน ก็ไม่เป็นไรใช้เวลาเพียงไม่นานแผลจะสมานรักษาตัว่ให้หายเอง แต่ถ้าหากเป็นหนักหน่อยสิ่งที่ต้องทำคือใส่ “ยาเหลือง” เพื่อบรรเทาอาการและเยียวยารักษาบาดแผล การใส่ยาเหลืองควรใส่ในปริมาณที่พอเหมาะผสมให้สีน้ำพอเหลืองก็พอ ไม่ควรใช้เยอะเพราะยาอะไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าใส่ในปริมาณมากแล้วจะหายเร็วนะครับ เสร็จแล้วก็ใส่ “เกลือ” ร่วมด้วยเพื่อฆ่าเชื่อโรค หลังจากนั้นก็งดอาหารซัก 3 วันแรกเพื่อให้ยาได้สามารถออกฤทธิ์เต็มที่…
ในช่วงการรักษาบาดแผล ผมแนะนำให้เปลี่ยนถ่ายน้ำถี่ขึ้นหน่อย และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนน้ำก็ให้เติมยาเหลืองพร้อมเกลือลงไปรักษาด้วย วิธีนี้จะช่วยให้ปลาฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บได้เร็วขึ้น สำหรับการเปลี่ยนน้ำครั้งแรกหลังการใส่ยา ช่วงนี้สามารถเริ่มกลับมาให้อาหารได้แล้วครับ… เว้นไปนานปลาคงหิวน่าดู หากปลามีอาการดีขึ้นก็จะเริ่มกิน… ผมอยากให้ผู้อ่านทราบนิดนึงตรงที่ปลาแต่ละตัวมีระยะการฟื้นตัวไม่เท่ากัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับตัวปลาและความสาหัสด้วย บางตัวหายช้า บางตัวหายเร็ว บางตัวเป็นเรื้อรัง ยังไงในช่วงเวลานี้ก็คอยให้กำลังใจและเอาใจใส่มันเต็มที่หน่อยนะครับ ถ้าเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยก็สามารถรักษาให้หายขาด ปลากลับมาสวยเหมือนเดิมได้ แต่หากว่าปลาได้รับบาดเจ็บรุนแรงมากก็อาจไม่สามารถรักษาให้ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ปลาหลังหัก กรามหัก ท้องบุบ ส่วนใหญ่ก็จะมีตำหนิค้างเติ่งแบบนั้นตลอดไป
สำหรับอาการบาดเจ็บในกรณี “เกล็ดหลุด” หากเป็นเกล็ดที่บริเวณแผ่นหลังก็ไม่ต้องห่วงเพราะจะขึ้นและคืนสภาพเร็วที่สุด โดยเฉพาะปลาที่มี Base สีเดียวทั้งตัว อย่างเช่น ทองอ่อน มังกรเงิน และมังกรเขียว รวมถึงเกล็ดดำที่แผ่นหลังของสายพันธุ์ทองอินโดด้วย แต่ถ้าหากเป็นปลาแดงหรือทองมาเลย์ที่เกล็ดแผ่นหลังมีสีก็นานหน่อยโดยเกล็ดจะขึ้นเร็วแต่คืนสภาพสีช้า ถ้าเกล็ดหลุดตามลำตัวก็ต้องทำใจรอนิดนึงเพราะขึ้นช้ากว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหลุดที่ฐานเกล็ด (Literal Line) นี่ถือเป็นเรื่องใหญ่เลย เกล็ดฟื้นตัวช้ามากแล้วกว่าที่สีเกล็ดจะคืนสภาพกลืนกันกับเกล็ดอื่นๆ นี่รอจนเกือบลืมไปเลย ในกรณีที่ “ครีบหรือหางแตกเป็นซี่ๆ ” แยกออกจากกันแต่ไม่หลุดก็ไม่มีปัญหา เพียงระยะเวลาไม่นาน 2- 3 วันก็จะกลับมาต่อกันสวยเสมือนเดิม แต่ถ้าหากว่าเกิด “หลุดขาด” ไปเลยงานนี้สาหัสครับต้องทำการรักษากันนาน
ในปลาเล็กขนาด ระยะเวลาในการการฟื้นตัวจะเร็วมาก เช่นในกรณีเกล็ดหลุดเกล็ดใหม่จะขึ้นมาและสีจะคืนภายใน 1 เดือน เครื่องครีบก็เช่นกันหากขาดหรือหักก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาต่อสวยได้เหมือนเดิม แต่ถ้าหากเป็นปลาใหญ่ขนาดเกิน 1 ฟุตขึ้นไปอาจต้องเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี กว่าเกล็ดจะขึ้นและคืนสี ที่น่าหนักใจคือสีของเกล็ดใหม่อาจไม่เหมือนเดิมเป็นคนละโทนสีกับเกล็ดอื่น ยิ่งถ้าเป็นเรื่องครีบหักหรือหางขาดนี่โอกาสต่อกันสวยมีน้อยมาก มีโอกาสที่ไม่ต่อ ครีบไม่ขึ้น หรือไม่ก็บิ่นไม่สวยเป็นตำหนิแบบนั้นตลอดไป ทางเลือกที่ทำได้คืออดทนเลี้ยงต่อไปหรือไม่ก็ติดสินใจทำการศัลยกรรม…
=> กรณีศึกษาเรื่อง "เมื่อปลาบาดเจ็บ"
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=481
=> กรณีศึกษาเรื่อง "การขึ้นของเกล็ดในปลาใหญ่"
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=4180