โดยปกติแล้ว ตู้ที่เลี้ยงปลามังกรทุกใบภายในตู้จะมี “หัวทราย” ที่ให้ฟองอากาศเพื่อปลามีอากาศหายใจอยู่ทุกตู้ (สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ ถ้าไม่มีเจ้ามังกรของเราจะอยู่ได้ไม่นานแน่นอนครับ) ตอนที่ผมเลี้ยงปลาใหม่ๆ ก็มีแบบนั้นเช่นกัน แต่วันหนึ่ง หลังจากที่ผมเริ่มเลี้ยงปลาเป็นจำนวนมากขึ้น ก็พบว่าตู้ที่เลี้ยงไว้ค่อนข้างจะสกปรกง่าย และสกปรกเร็วขึ้น ลำพังระบบกรองภายในตู้ ไม่อาจควบคุมของเสียที่เกิดภายในตู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผมจึงมีทางเลือกแค่เพียง
1. ลดจำนวนปลาลง
2. เปลี่ยนระบบกรอง
3. เพิ่มระบบกรอง
แต่ในเมื่อเลือกที่จะเลี้ยงแล้ว ผมก็ไม่อยากลดจำนวนลง ดังนั้นจึงเหลือทางออกแค่ 2 ทาง แต่ด้วยระบบกรองที่ใช้อยู่เป็นกรองในตู้ ถ้าจะเปลี่ยนกรองถือว่าเรื่องใหญ่ อาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนตู้ไปเลยก็ได้ เพราะเปลี่ยนกรองในตู้เป็นอะไรที่ต้องใช้เวลาในการแก้ไขนาน เราไม่มีที่ฝากปลา เราไม่มีที่พักปลา จึงต้องตัดใจเปลี่ยนเป็นวิธี “เพิ่มระบบกรอง” แทน แต่ทว่าจะเพิ่มระบบกรองแบบใด ? รุ่นไหน ? ถึงจะควบคุมความสกปกที่เกิดขึ้นได้ ? … แล้วหลอดไฟในสมองก็ส่องแสงออกมา ผมนึกขึ้นมาได้ว่าเรายังมีส่วนของ “หัวทราย” ที่ให้ประโยชน์ในการให้อากาศปลาหายใจได้อย่างเดียว ถ้าเราปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและพัฒนาให้ได้ประโยชน์ใช้สอยมากกว่านี้ก็คงจะเป็นเรื่องที่ดี
พอคิดได้ปุ๊บผมก็เริ่มทันที ด้วยการเปลี่ยนจากหัวทรายธรรมดา 2 จุดที่ติดตั้งในตู้ไปเป็น “ตุ้มฟองน้ำ” เพราะอย่างน้อยที่สุด นอกจากให้อากาศภายในตู้แล้ว ยังช่วยดักจับฝุ่นตะกอนที่ไหลเวียนภายในตู้ได้ น่าจะทำให้สะอาดขึ้นได้ ก็เลยลองทำดู แต่ยังไม่ทันที่จะได้เห็นผลเท่าไหร่นัก ผมก็มาฉุกคิดได้ว่าถ้าเราปูหินภายในตู้ โดยใช้ระบบกรองใต้กรวด รับรองว่าน้ำจะต้องสะอาดสะอ้านกว่านี้แน่ๆ แต่คิดไปคิดมา ถ้าใช้ระบบกรองใต้กรวดก็… เรื่องใหญ่ !! เพราะจะทำความสะอาดยาก อีกทั้งในการจะจัดปู ก็ต้องเอาตัวปลาทั้งหมดออกมา นึกภาพแล้วน่าปวดหัว
แต่สงสัยว่าช่วงนั้นผมกำลังหนุ่มกำลังแน่น หัวสมองกำลังไบรท์ ชอบคิดชอบทำอะไรอยู่ตลอด (โดยเฉพาะเรื่องปลามังกร เพราะตอนนั้นเลี้ยงปลาชนิดนี้อยู่คนเดียวไม่รู้จักใคร) ก็เลยเกิดไอเดียที่ดัดแปลงระบบกรองใต้กรวดมาใช้ภายในตู้โดยที่ให้ประโยชน์ทั้งการให้ฟองอากาศเพื่อให้ปลาหายใจได้ และ ยังช่วยบำบัดน้ำเลี้ยงภายในตู้ให้มีคุณภาพคงอยู่ยาวนานขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องลงไปวางกรองใต้กรวด + ปูหิน แล้วก็ย้ายปลาออกให้ยุ่งยาก นั้นก็คือการใช้ “กรองถาด” อีกรูปแบบหนึ่งของการประยุกต์ระบบกรองใต้กรวดมาใช้ในตู้ ซึ่งสามารถเคลื่อนที่ เข้า-ออก ได้โดยไม่ต้องรบกวนเหล่าสมาชิกในตู้ปลา ถึงตอนนี้แล้ว เพื่อนสมาชิกอาจจะอยากทราบว่าแล้วระบบกรองที่ว่านั้นเป็นอย่างไร หลังจากที่ทดลองและเปลี่ยนรูปลักษณ์อยู่นาน ตอนนี้ก็ได้หน้าตาที่ลงตัวแล้ว ตามไปดูกันครับ
1. เตรียมถาดที่มีขนาดเหมาะๆ ซัก 1 ใบ ควรจะเป็นรูป 4 เหลี่ยมเพื่อให้เข้ากับมุมตู้ได้ ความสูงที่กำลังดีคือ 5 นิ้ว (ใช้ถาดตันที่ไม่มีรูระบายน้ำ)
2. เตรียมแผ่นกรองใต้กรวด (Jigsaw) ด้วยการจัดวางให้พอดีในถาด อาจจะขาดเหลือบ้าง ไม่ต้องซีเรียสนะครับ จากนั้นก็ติดตั้งท่อให้อากาศกับตัวแผ่นกรองตามภาพประกอบ เป็นอันเสร็จสิ้นการทำฐาน
3. เทวัสดุกรองหลักที่ใช้ในการบำบัดของเสีย ส่วนนี้ผมเลือกใช้ปะการังเบอร์ 3 ปูให้เต็มพื้นที่ เหลือที่ไว้เพียง 1 นิ้วเท่านั้น (ปะการังต้องล้างน้ำให้เรียบร้อยก่อนการใช้งานจริงครับ)
4. เนื้อที่ 1 นิ้วที่เหลือ ใช้เพื่อปูหินแม่น้ำขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักกดทับไม่ให้ฝุ่นตะกอนลอยขึ้นมาจากระบบกรอง และ ยังป้องยังไม่ให้ปลาลงไปคุ้ยเขี่ยปะการังภายในตู้ (ถ้าไม่มี ในตู้อาจจะกระจุยกระจายไปด้วยเศษปะการังนะครับ พอดีบ้านผมเลี้ยงปลานกแก้ว แล้วเจ้าพวกนี้ก็เป็นนักคุ้ยชั้นหนึ่งเลย จึงต้องหาวิธีป้องกันแบบนี้ แต่ถ้าเลี้ยงปลามังกรอย่างเดียว อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ครับ ปูปะการังอย่างเดียวเต็มพื้นที่ได้เลย)
5. หลังจากจัดวางแล้วก็ล้างน้ำให้สะอาดอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าหมดจดจริงๆ ไม่มีตะกอนเหลืออยู่ จึงนำลงไปใช้ในตู้ปลาได้… วางให้เข้ามุม ต่อสายกับเครื่องให้ออกซิเจน เท่านั้นก็เป็นการเรียบร้อย
ตามภาพประกอบทั้งหมดนี้ ผมใช้กรองถาดสำหรับตู้ปลาขนาด 36 นิ้ว ซึ่งมีขนาดถาดกรองอยู่ที่ ยาว 12 นิ้ว กว้าง 9 นิ้ว สูง 4.5 นิ้ว ปริมาตรการใส่ปะการังในกรองชั้นแรกอยู่ที่ 4 กิโลกรัม + ปริมาตรในการใส่หินแม่น้ำขนาดใหญ่อยู่ที่ 2 กิโลกรัม รวมน้ำหนักประมาณ 7 กิโลกรัม สามารถบำบัดน้ำเลี้ยงภายในตู้ให้ใสสะอาดได้ยาวนาน 2 เดือนเต็ม (เลี้ยงปลามังกร 1 ตัว Tank Mate 2 ตัว) จากนั้นจึงนำออกมาล้างทำความสะอาดโดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที แล้วค่อยเอากลับไปใช้ใหม่ ก็สามารถช่วยบำบัดน้ำ พร้อมให้อากาศปลาหายใจไปยาวนานอีก 2 เดือน… อาจจะดูเหมือนยุ่งยากนิดๆ แต่เชื่อผมสิครับ ไหนก็จะปล่อยให้หัวทรายทิ้งอยู่ในตู้โดยทำหน้าที่แค่ให้อากาศอย่างเดียวแล้ว ถ้าเติมอีกซักอย่าง แต่ให้ความคุ้มครองที่ดีกว่ามาก ผมว่าก็น่าลองนะครับ
NOTE : ระบบกรองชนิดนี้ สำหรับตู้เล็ก (ขนาดไม่เกิน 36 นิ้ว) ถือใช้เป็น “ระบบกรองหลัก” ได้ แต่สำหรับตู้ใหญ่ควรประยุกต์ใช้เป็น “ระบบกรองเสริม” จะให้ประสิทธิภาพที่เหมาะสมกว่าครับ