ขนาดตู้ที่เหมาะสม ก็ควรมีขนาดยาวเป็น 3 เท่าและกว้างไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของตัวปลาเพื่อที่เจ้ามังกรจะได้ว่ายวนไปมาอย่างเต็มที่ไม่ติดขัด ส่วนเรื่องความกว้างก็มีผลในเรื่องการกลับตัว ตู้ปลาที่สั้นหรือแคบเกินไปจะมีผลทำให้ปลาอึดอัดไม่สบายตัว อาจทำให้ปลาโตช้า กินไม่ดี รูปทรงแคระแกร็น ว่ายน้ำไม่สวยติดๆ ขัดๆ ไม่สง่างาม ที่สำคัญคืออาจเป็นที่มาของโรคต่างๆ หรือแผลบอบช้ำได้อย่างเช่น หนวดเปื่อย ครีบเปื่อย ตาเป็นแผล ที่เกิดจากการถูไถกับตู้เป็นประจำ
สำหรับปลาไซส์เล็กขนาด 4-5 นิ้วควรจะเริ่มเลี้ยงในตู้ขนาดประมาณ 36 นิ้วซึ่งไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป แล้วพอปลามีขนาดใกล้ๆ 1 ฟุตก็เปลี่ยนมาเป็นตู้ 60” และพอ 20” ก็ใช้ตู้ 72” หรือ 84” ซึ่งสามารถเลี้ยงปลามังกรได้จนโตเต็มที่ หรือถ้าไม่สะดวกเปลี่ยนตู้บ่อยๆ และมีงบประมาณเพียงพอก็สามารถใช้ตู้ใหญ่ได้เลยครับ แต่การใช้ตู้ที่เหมาะสมกับขนาดปลาจะให้ผลที่ดีกว่าเพราะว่าปลาจะโตตามขนาด ได้สัดส่วนที่สวย ช่วยลดปัญหาการว่ายลู่หรือว่ายพุ่งไปพุ่งมาเวลาที่ตื่นตกใจ
นอกจากนี้ภาพที่มองยังลงตัวอีกด้วยเมื่อขนาดปลาเหมาะสมกับขนาดตู้ ในขณะเดียวกันถ้าหากว่าเลือกใช้ตู้ใหญ่เลย ในช่วงแรกๆ อาจดูไม่สมดุลย์นักเมื่อมองปลาเล็กในตู้ยักษ์ ต้องใช้ระยะเวลารอนานกว่ามันจะโตตามกันทัน นอกจากนี้ยังมีปัญหาเกี่ยวกับการว่ายลู่ไปมาของปลาในเวลาที่ลงปลาใหม่ๆ ด้วย ข้อเสียอีกอย่างก็คือถ้าให้อาหารมีชีวิตเช่นลูกปลานิลจิ๋ว ปลาเล็ก หรือกุ้งฝอยปลาจะว่ายไล่เหยื่อไม่ทันเพราะเหยื่อจะมีเนื้อที่หนีมากปลาจะไล่จับเหยื่อไม่ทัน แต่ถ้าหากว่าให้เป็นอาหารตระกูลแมลงอย่างจิ้งหรีดและหนอนนก ปัญหานี้ก็จะหมดไปเพราะว่าพวกนี้ลอยน้ำครับ ปลากินง่าย…
ส่วนข้อดีของเลือกใช้ตู้ใหญ่ ก็คือปลามีเนื้อที่ว่ายมาก หากเป็นปลาฟอร์มดีก็ไม่มีปัญหาตู้ใหญ่แค่ไหนก็ยังว่ายน้ำได้สวยอยู่ และหากว่ายน้ำไปมาอยู่เสมอบวกกับการกินดีก็จะทำให้ปลาโตเร็วขึ้นมาก นอกจากนี้ยังหมดปัญหาในการเปลี่ยนตู้ครั้งต่อไป ซื้อครั้งเดียวเลี้ยงได้ตลอดชีวิต… อย่างไรก็ตามปัญหาสำคัญที่มักเกิดกับตู้เลี้ยงใหญ่ก็คือปลายังติดนิสัยว่ายลู่และดูปลาเล็กเกินไปในตู้ใหญ่ วิธีนี้แก้ได้ด้วยการกั้นกระจกแบ่งครึ่งหรือกำหนดสัดส่วนเอง… แล้วส่วนที่เหลือก็ไว้เลี้ยงปลาชนิดอื่นๆ สำหรับตู้ใหญ่เวลาเลือกซื้อควรคำนึงถึงความกว้าง ความยาวและความหนาของกระจกเป็นสำคัญ ส่วนความลึกไม่ต้องใส่ใจนัก… อย่าให้ลึกมากเป็นดีครับ ทำงานลำบาก จะก้มจะเงย จะขัดทำความสะอาดยาก
ตู้ใหญ่สำหรับเลี้ยงปลามังกรได้ตลอดชีวิตที่ผมว่านี้ขนาดที่พอเหมาะที่สุดคือ 60”x24”x24” (ยาวxกว้างxสูง) ความหนาของกระจก ไม่น้อยกว่า 2.5 หุนครับและควรเป็นตู้เปล่าคือหมายถึงไม่มีระบบกรองในตัว ตู้ขนาดนี้ผมไม่แนะนำให้ผู้เลี้ยงทำกรองในตัวหรือกรองใต้ตู้เพราะว่าจะไปกินเนื้อที่ในตู้ซึ่งจะเป็นผลทำให้ปลามีเนื้อที่ว่ายน้ำน้อยลง สำหรับตู้ขนาดนี้ผมขอแนะนำให้ใช้เป็นกรองนอกดีกว่าเพราะช่วยประหยัดเนื้อที่และยังเหมาะสมกับขนาดตู้อีกด้วย แต่ถ้าหากว่าเป็นตู้ที่มีความยาวมากว่านี้ก็สามารถใช้ระบบกรองในตัว (กรองข้างหรือมุมตู้) หรือจะเลือกใช้กรองใต้ตู้ก็ได้ครับ
ความหนาของกระจก หลายๆ คนอาจมองข้ามจุดนี้ไป แต่จริงๆ แล้วถือเป็นเรื่องสำคัญในการเลือกใช้ตู้ใหญ่ด้วย ตู้ที่มีขนาดก่อนหน้า 60”x24”x24” ไม่ว่าจะเป็น 60”x20x20 หรือขนาดใดก็ตามแต่ กระจก 2 หุนหรือ 2.5 หุนอาจรับน้ำหนักแรงดันได้แต่ต้องไม่ใช่กับปลาใหญ่อย่างปลามังกร เพราะเจ้านี่มีแรงกำลังมหาศาล ยิ่งเวลาตกใจหรือเวลาที่กินเหยื่ออาจรุนแรงกระแทกตู้เสียงดังได้ หากตู้ที่ไม่แข็งแรงพอก็จะแตก ผลคือเสียทั้งตู้เสียทั้งปลา ทางที่ดีผมขอแนะนำให้ลงทุนเพิ่มอีกนิดแล้วเลือกใช้ตู้ที่มีความกระจกหนาขึ้น สำหรับตู้ที่ผมยกตัวอย่างไปก็ใช้ 3 หุนเป็นอย่างน้อยแต่ถ้าได้ 4 หุนนี่แจ๋วเลยล่ะครับ (ราคาต่างกันไม่มาก) แต่ถ้าเป็นตู้ใหญ่กว่านี้อย่าง 72” และ 84” หรือที่ใหญ่ขึ้นไปอีกโดยเฉพาะตู้ที่เน้นความสูงตั้งแต่ 24” ขึ้นไปต้องใช้กระจก 4 หุน ไม่งั้นจะรับแรงดันน้ำไม่ไหว ตู้แตกแน่… หากตัดสินซื้อตู้ใหญ่แล้วลงมันดีๆ ไปเลยดีกว่าเพราะว่าเป็นการลงทุนครั้งเดียวจบและสามารถเลี้ยงปลาได้ยาวนานนับสิบปีเลยทีเดียว
การเลือกซื้อตู้สำหรับเลี้ยงปลามังกรก็ต้องใส่ใจนิดนึง หากเป็นตู้เล็กๆ ก็ยังพอทำเนา ไม่ว่าจะร้านไหนส่วนใหญ่ก็มาตราฐานเดียวกันเลือกซื้อได้เกือบทุกร้าน แต่ถ้าหากเป็นตู้ใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณสูงก็พยายามเลือกร้านที่เชื่อถือได้และที่สำคัญต้องเชี่ยวชาญในการทำตู้ใหญ่โดยเฉพาะ ก่อนการตัดสินใจซื้อให้เปรียบเทียบราคาในแต่ละร้านแล้วเดินดูงานตู้ภายในร้านด้วย สังเกตดูการยิงกาวยาซิลิโคนควรติดเชื่อมอย่างสวยงามไม่เลอะเทอะ แข็งแรงและแน่นหนา การวางตำแหน่งคานรับทั้งคานบน คานล่างและคานเสริม แล้วก็ดูงานโดยรวม => ต่อตู้ออกมาแล้วสมส่วนหรือไม่ เก็บเศษคราบต่างๆ เกลี้ยงเกลารึเปล่า ? กระจกเป็นรอยหรือไม่ ? ท้ายที่สุดสอบถามถึงบริการหลังการขายด้วยเช่นว่าส่งให้ถึงบ้านพร้อม Set ระดับน้ำและทำความสะอาดตู้ให้ด้วยหรือไม่ ? มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมรึเปล่า ? รับประกันตู้นานแค่ไหน ? หากตู้มีปัญหาจะเข้ามาแก้ไขให้ให้ระยะเวลาเท่าไหร่ ?
NOTE : เราสามารถออกแบบตู้เองได้ว่าจะให้ออกมาแบบไหน กรองแบบใด ? กี่ชั้นกี่ช่องกรองและช่องละกี่นิ้ว ? ระยะห่างของคานเท่าไหร่ ? ฝาออกแบบยังไง ? ต้องการจะแบ่งกี่ตอน ? รวมถึงการวางตำแหน่งของขาไฟ ความหนาของคิ้วอะคลิลิคที่ติดกับขอบตู้ ความสูงต่ำของขาตั้ง ทุกอย่างผู้ซื้อสามารถกำหนดได้หมด และที่สำคัญคือราคาไม่ได้แพงขึ้นเลย ถ้าไม่รีบก็ขอให้เก็บข้อมูลร้านตู้หลายๆ ร้านเพื่อเปรียบเทียบราคา เนื้องาน และการบริการ หรือสอบถามจากเพื่อนๆ ก่อนจะดีกว่าเพื่อจะได้ตู้ปลาที่มีคุณภาพและตรงตามต้องการของเรามากที่สุด
ขอทิ้งข้อคิดไว้ซักนิด สำหรับผู้ที่จะเลือกซื้อตู้ใบใหญ่ ก่อนการจะเลือกที่ตั้งวางตู้หากเป็นไปได้ลองศึกษาเรื่องตำแหน่งการตั้งวาง (ฮวงจุ้ย) เพื่อความเป็นศิริมงคลของบ้านเช่นว่าตำแหน่งไหนตั้งแล้วดี รวมถึงสีที่ถูกโฉลกและเข้ากับบ้าน ไม่ใช่ว่าบ้านเป็นสีขาวสว่างแต่กลับเอาตู้สีดำทมึนใบโตมาตั้งวาง… ดูแล้วกลายเป็น “โลง” ไป ซึ่งเป็นลางไม่ดีให้กับคนในบ้านทำให้เจอแต่เรื่องที่ไม่ดีผมเคยโดนมาแล้ว แก้ไขเปลี่ยนสีคิ้วเป็นสีอื่นก็ไม่ดีขึ้น ติดสติกเกอร์ปิดทับก็ไม่ได้ผล ช่วงนั้นดวงผมไม่ค่อยจะดีจริงๆ จนท้ายสุดต้องจำใจขายตู้ทิ้งแล้วซื้อใบใหม่ หลังจากนั้นจึงค่อยๆ ดีขึ้น เรื่องแบบนี้บางทีอาจฟังดูเป็นเรื่องที่ไร้สาระแต่หากเป็นไปได้ลองศึกษาไว้ซักนิดมันก็ดีนะครับ
Case Study การสั่งตู้ปลาของ Nanconnection (แนะนำเพื่อให้ใช้เป็นแนวทางในการสั่งตู้ปลาใบใหม่ครับ)
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=8577
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=8595
*** โยตู้ปลา ร้านตู้ที่ Aro4u แห่งนี้ให้ความไว้วางใจครับ
http://www.aro4u.com/forums/index.php?showtopic=47