มีนักเลี้ยงจำนวนไม่น้อยนะครับที่ใจถึงหน่อยเริ่มต้นด้วยการซื้อปลาใหญ่มาเลี้ยงเลยโดยปลาใหญ่ขนาดที่ว่าหมายถึงขนาดตั้งแต่ 1 ฟุตขึ้นไป โดยมีเหตุผลว่าซื้อความสบายใจและความแน่นอน ไม่ต้องเสียเวลารอลุ้นและเสี่ยงกับเงินทุนที่ลงไป เพราะปลาไซส์นี้ส่วนใหญ่สีสันความชัดเจนและฟอร์มการว่ายมักจะออกมาแน่นอนแล้ว แต่สำหรับนักเลี้ยงมือใหม่ ขนาดปลาที่เหมาะสมในการเลือกซื้อมาเลี้ยงควรซักขนาดประมาณ 5-6 นิ้ว เพราะถ้าเล็กกว่านี้มีโอกาสตายสูงครับหากเลี้ยงไม่เป็น ลูกปลาไซส์นี้สามารถปรับตัวกับที่ใหม่ได้ง่าย และการเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กๆ จะสามารถฝึกให้เชื่องได้ง่ายในขณะที่ถ้าเป็นปลาใหญ่จะต้องใช้เวลาในการปรับตัวนาน ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจไม่ว่ายและไม่ยอมกินอาหารจนทำให้ผู้เลี้ยงหลายท่านเครียดไปตามๆ กัน อีกอย่างปลาเล็กจะราคาไม่แพงมากแต่ถ้าซื้อตัวใหญ่ล่ะก็แพงจริงๆ เชียว ยกตัวอย่างเช่นสายพันธุ์ทองอินโด ซื้อตัวเล็กๆ ขนาด 5 นิ้วราคา 13,000 – 15,000 บาท พอโตขึ้นเป็น 1 ฟุต ราคากลางๆ จะอยู่ประมาณ 22,000 – 25,000 บาท 2 ฟุตก็ 30,000 ขึ้นไป แล้วยิ่งถ้าเป็นปลาสวยๆ สภาพสมบูรณ์ ไม่มีตำหนิราคาก็สูงกว่านี้
ปลาใหญ่นอกจากจะแพงสุดกู่แล้วยังขนย้ายลำบาก ต้องเตรียมที่เตรียมทางเป็นพิเศษ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งมากขึ้นเพราะไม่ได้เสียค่าตัวปลาอย่างเดียว ยังมีค่าตู้และอุปกรณ์อื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แล้วที่สำคัญปลาใหญ่เอาใจยากฉะนั้นจะฝึกให้เชื่องนี่งานใหญ่เลยล่ะครับ อย่างไรก็ตามชาวต่างชาติเช่นไต้หวันและญี่ปุ่นก็ยังชอบที่จะซื้อปลาใหญ่มาเลี้ยงมากกว่า เพราะเห็นความสวยงามชัดเจนแล้วไม่ต้องมาเสียเวลาลุ้นว่าโตขึ้นจะสวยหรือไม่ ต่างจากนักเลี้ยงคนไทยที่ส่วนใหญ่มักจะซื้อปลามังกรมาเลี้ยงดูฟูมฟักเองตั้งแต่เล็กๆ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่… เปลืองตัง ? อยากเฝ้าดูและเรียนรู้การพัฒนา ? สถานที่ไม่พอ ? งบประมาณจำกัด ? ต้องการจะฝึกให้เชื่อง ? ผมเชื่อว่าแบบนี้ดีกว่านะครับได้ความผูกพันแถมยังได้มีลุ้นด้วยว่าโตขึ้นปลาเราจะเป็นยังไง ???… ในส่วนต่อไปผมจะพูดถึงราคากลางของปลามังกรในตลาดเพื่อเป็นไกด์ให้กับผู้ที่กำลังสนใจหรือกำลังกะเกณฑ์งบประมาณอยู่
ราคากลางของปลามังกรในตลาดซันเดย์สวนจตุจักรจะอยู่ที่ประมาณนี้นะครับ
– ออสเตรเลีย (3-4 นิ้ว) ราคาประมาณ 400 – 500 บาท
– ทองอ่อน (4-5 นิ้ว) ราคาประมาณ 1,200 – 1,500 บาท
– มังกรเงิน (3 นิ้ว) ราคาประมาณ 170 – 250 บาท
– มังกรดำ (3 นิ้ว) ราคาประมาณ 350 – 400 บาท
*** มังกรดำมีเฉพาะเดือนเมษายน-มิถุนายนครับ
– มังกรเขียว (5-6 นิ้ว) ราคาประมาณ 1,500 – 2,000 บาท
*** ถ้ามีใบเซอร์รับรองและมีชิพระบุรหัส ราคาสูงขึ้นเป็น 2,500 – 3,000 บาท
– Yellow Tail (4-5 นิ้ว) ราคาประมาณ 3,500 – 4,000 บาท
– Red 1.5 (4-5 นิ้ว) ราคาประมาณ 5,500 – 6,000 บาท
– Banjar Red (4-5 นิ้ว) ราคาประมาณ 6,500 – 8,000 บาท (Red Arowana)
– ทองอินโด – RTG – (4-5 นิ้ว) ราคาประมาณ 12,000 – 15,000 บาท
– Hiback Golden (4-5 นิ้ว) ราคาประมาณ 15,000 – 18,000 บาท
– ทองมาเลย์ (4-5 นิ้ว) เริ่มต้นที่ประมาณ 40,000 บาท
– Super Red (4-5 นิ้ว) เริ่มต้นที่ประมาณ 35,000 บาท
*** 3 สายพันธุ์หลัง หากเป็นเกรดพิเศษ ราคาจะสูงกว่านี้ครับ
*** ราคานี้มีการเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอยู่ตลอดนะครับ
สำหรับปลามังกรพันธุ์ระดับสูงที่มีราคาแพงหากซื้อในตลาดซันเดย์ก็คงราคาประมาณนี้ แต่ถ้าหากซื้อตามร้านใหญ่ที่ขายปลามังกรโดยเฉพาะแล้วเลือกปลาเกรดคัดพิเศษมาขาย หรือเป็นตัวแทนจำหน่ายของฟาร์มโดยตรงอย่างเช่นในตลาด Seven Days ทองมาเลย์ขนาดซัก 4-5 นิ้วก็ตัวนึงก็ 50,000 ขึ้นไปส่วนถ้าเป็น Super Red ก็จะอยู่ที่ 40,000 – 50,000 บาทและทองอินโดก็ 14,000-15,000 แล้วถ้าเป็น Hi-back ก็เริ่มต้นที่ประมาณ 18,000 บาท กลุ่มลูกค้าสำหรับปลาเกรดนี้จะมี 2 กลุ่มก็คือผู้เลี้ยงใหม่แต่กำลังทรัพย์สูงที่อยากได้ปลาดีแต่เลือกปลาไม่เป็นหรือยังไม่มีความรู้เรื่องปลาชนิดนี้ และอีกกลุ่มนึงคือนิติบุคคลหรือบริษัทองกรณ์ต่างๆ ที่ทุนหนาและไม่ต้องการเสี่ยงคือยอมเสียเท่าไหร่เท่ากันเพื่อให้มั่นใจว่าได้ปลาสวยมา แต่ถ้าเป็นนักเลี้ยงธรรมดาน้อยรายนักที่จะกล้าควักกระเป๋าเอาตังค์มาลงกับปลาที่ตัวนึงมีค่าหลายๆ หมื่นบาท
จะเห็นได้เลยนะครับว่าปลาชุดหลังจะมีราคาแพงมาก สำหรับคนนอกวงการ แม่บ้าน ทหารเรือ ที่ไม่รู้ค่าก็จะคิดว่าเป็นการเอาเงินไปทิ้งน้ำเปล่าๆ ปลาอะไรกันตัวตั้งเป็นหมื่นๆ ! นอกจากคนที่มีฐานะร่ำรวยพอและมีใจรักชอบจริงๆ จึงจะเหมาะกับปลาพันธุ์ระดับสูงแบบนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความคนมีตังค์จะได้ครอบครองปลาสวยเสมอไปนะครับ เพราะว่าในแต่ละล๊อทที่มีการนำปลาเข้ามาแม้จะเป็นร้านใหญ่ก็เอามาแค่ไม่กี่สิบตัวและกว่าจะมาถึงเราก็เหลือไม่มาก มีการตัดแบ่งขายส่งให้ร้านอื่นๆ ที่มาเลือกซื้อในวันลงปลาหรือไม่ก็มีลูกค้ากลุ่มพิเศษที่ซื้อขายกันประจำมาจับจองหัวปลาตัวสวยๆ คัดพิเศษไว้ก่อนแล้ว ส่วนที่เหลืออยู่หน้าร้านก็อาจจะเป็นแบบรองลงมาหรือเรียกได้ว่าเป็นหางปลาของล๊อท แต่ปลาที่เหลือกก็ไม่ได้หมายความว่าไม่สวยเพียงแต่อาจไม่เท่าหัวปลา และเมื่อหัวปลาไปแล้วก็ไม่มีตัวเปรียบเทียบ สุดท้ายที่โชว์ๆ กันก็เลยดูแล้วสวยทุกตัว
ปลาที่ซื้อจากตัวแทนฟาร์มโดยปกติแล้วจะถูกฝัง Microchip (เลขรหัส) และมีใบ Certificate ให้เพื่อเป็นการรับรองสายพันธุ์ปลา (และมีบางร้านที่รับทำใบอนุญาตครอบครองให้ด้วย) ยังไงก็ตามปลามังกรในตลาดซันเดย์ที่มีราคารองลงมาก็ไม่ได้แปลว่าเป็นปลาเกรดต่ำหรือเป็นปลาไม่ดีไปซะหมด แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความ “ตาถึง” + “ประสบการณ์” และ “ดวง" จึงจะเลือกได้ปลาดีๆ กลับไป แต่จริงๆ แล้วสำหรับมือสมัครเล่นอย่างเราๆ แล้วเอาแค่ 5 พันธุ์แรกข้างบนมาลองเลี้ยงก่อนจะดีกว่า (ออสเตรเลีย ทองอ่อน มังกรเขียว มังกรเงิน มังกรดำ) เอาไว้เป็นมืออาชีพเมื่อไหร่ค่อยซื้อ 3 สายพันธุ์หลังมาเลี้ยงละกันนะครับ หรือถ้าใจถึงหน่อยอยากข้ามมาเล่นระดับกลางก็แนะนำ Red B หรือทองอินโดมาเลี้ยง แต่ถ้าใจร้อนอยากได้ของดีและกระเป๋าหนักพอ จะลุยแดงหรือมาเลย์เลยก็ไม่มีใครว่า
NOTE : 4 สายพันธุ์หลังที่มีราคาแพง ผู้เลี้ยงมือใหม่ที่ไม่ได้ศึกษาอย่างดีก็มีโอกาสถูกหลอกขายมาก หากคุณเป็นผู้ที่กำลังสนใจหรือนักเลี้ยงมือใหม่แต่กำลังทรัพย์สูง อยากลองเลี้ยงปลาแพงๆ ไปเลยก็ควรให้คนที่มีความรู้และเลือกปลาเป็นไปด้วย ไม่เช่นนั้น คุณอาจได้มังกรทองอ่อนตัวละ 10,000 โดยนึกว่าเป็นทองอินโด หรือ Red B ตัวละ 35,000 โดยถูกหลอกว่าเป็น Chili Red ก็ได้