ต่อก แต่ก ๆ ๆ ๆ ๆ… เสียงผมกับพี่แวนเดินขึ้นบันไดเพื่อขึ้นไปยลโฉม 2 มังกรงามของพี่แวน แอ๊ดดด…. เปิดประตูเข้าไปสิ่งแรกที่เห็นเลยก็คือเจ้ามังกรทองมาเลย์ตัวนี้ ก่อนอื่นก็ขอแนะนำก่อนเลยนะครับว่าเจ้านี่มีชื่อว่า Peter 3 เป็นทองมาเลย์ขนาดประมาณ 13” ซึ่งอยู่กับพี่แวนราวๆ ปีนึงแล้วล่ะครับ เจ้า Peter 3 เป็นปลาจากฟาร์ม Lake Ocean โดยซื้อมาจากร้านขายปลาร้านหนึ่งในตลาดเซเว่นเดย์ตลาดสวนจตุจักรในราคาประมาณ 53,xxx บาท ผมจำได้ดีครับว่าเจ้านี่ผมเป็นคนเลือกให้พี่แวนเองซึ่งตอนนี้มันมีขนาดเพียง 5” นิดหน่อย แต่มาเห็นตอนนี้มันโตเป็นหนุ่มสวยอร่างฉ่างขนาดนี้แล้ว… ตอนที่ซื้อช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทองมาเลย์ขาดมาก มีขายไม่กี่ร้านและแต่ละตัวก็มีราคาแพงหูฉี่ แต่พี่แวนก็กล้าจ่ายครับเพราะช่วงนั้นกำลังเห่อพอดี ราคงราคาไม่สนขอได้ปลาสวยๆ มาเลี้ยงกับฉันเท่านั้นก็พอ
มาดูสภาพที่เลี้ยงตอนนี้ดีกว่าครับ… เจ้า Peter 3 อยู่ในตู้ขนาด 60”x24”x24” ติดฉากดำรอบด้านเพื่อให้ปลาโดดเด่นที่สุด หลอดไฟที่ใช้ในขณะถ่ายภาพก็มีหลอดไฟใต้น้ำ 1 หลอดและหลอดไฟ Sylvania Aqua Star 1 หลอด ตู้จึงสว่างไสวภาพถ่ายที่ได้จึงชัดเจนอย่างที่เห็นไงล่ะครับ ระบบให้อากาศก็เป็นปั้มลมสำรองไฟของ Resun ซึ่งเป็นแบบ 2 ระบบคือ AC/AD โดยระบบสำรองไฟของเครื่องรุ่นนี้ใช้แบตเตอรี่ในการทำงาน เป็นระบบชาร์จไฟในตัวและจะทำงานอัตโนมัติเมื่อไฟดับซึ่งสามารถสำรองไฟได้นานประมาณ 12-15 ชั่วโมง (ต่างกับระบบปั้มถ่านปกตินะครับที่ต้องใช้ถ่านก้อนและสามารถสำรองไฟได้เพียง 1 – 2 ชั่วโมง ที่สำคัญคือต้องคอยปิดเปิดเอง) สำหรับคนเลี้ยงปลามังกรหรือปลาที่มีราคาแพงชนิดอื่นๆ ผมแนะนำให้มีติดบ้านไว้ซักตัวนะครับ… ราคาอาจจะแพงหน่อยแต่ว่าเพื่อความปลอดภัยและสบายใจเวลาที่เราไม่อยู่ที่บ้านหากไฟดับเราก็สามารถอุ่นใจได้ว่าปลาเราจะปลอดภัย
ต่อไปมาดูเรื่องระบบกรองบ้างครับ ระบบกรองของตู้นี้พี่แวนเลือกใช้ “กรองนอกตู้” 1 ตัว ซึ่งเป็นยี่ห้อ Eheim สุดหรู เท่านั้นยังไม่พอเพื่อระบบกรองที่มีประสิทธิภาพสูงสุด พี่แวนก็เลือกใช้วัสดุกรองของ Eheim เช่นกันครับคือ Substrate และ Ceramic Rings ซึ่งวัสุดกรองทั้ง 2 อย่างนี้ใช้ในการกักเก็บและเพาะพันธุ์แบคทีเรียชนิดดีได้มาก โดยแบคทีเรียชนิดดีดังกล่าวจะช่วยบำบัดน้ำขจัดของเสียทำให้น้ำเลี้ยงมีคุณภาพดีและใสสะอาดอยู่เสมอ แต่ทว่าโดยปกติแล้วผู้เลี้ยงมักไม่ค่อยใช้วัสดุกรองชนิดนี้เพราะมีราคาสูงมาก (ลิตรนึงหลายร้อยบาท กรองตัวนึงก็ใช้ไม่น้อยกว่า 5 ลิตร… เฉพาะค่าวัสุดุกรองก็หลายพันบาทแล้วล่ะครับ) แต่เพื่อให้น้ำสะอาดนานๆ ไม่ต้องเปลี่ยนน้ำบ่อยๆ ชั่งน้ำหนักดูแล้วคุ้มค่ากว่าพี่แวนจึงตัดสินใจเลือกใช้วัสดุกรองชนิดที่ว่าครับ… แล้วยิ่งเจ้า Peter 3 ถูกเลี้ยงอยู่ตัวเดียวไม่มีเพื่อนร่วมตู้เลยก็ยิ่งสะอาดสะอ้านเข้าไปใหญ่ ช่วงเวลาเปลี่ยนน้ำแต่ละครั้งสำหรับตู้นี้พี่แวนบอกว่าอยู่ที่ประมาณ 2 เดือนต่อ 1 ครั้งครับ…
พูดเรื่องโดยรวมเสร็จแล้วมาดูที่ตัวปลากันนะครับ… มาดูซิว่าเจ้า Peter 3 ตัวนี้มีจุดเด่นจุดด้อยอะไรบ้าง ? ดูจากลักษณะโดยรวมแล้วเจ้านี่เป็นทองมาเลย์ที่สวยมากตัวนึงครับ หุ่นสมส่วนมาก ครีบเครื่องใหญ่มากโดยเฉพาะครีบช่วงหลังไม่ว่าจะเป็นครีบก้น ครีบหลังและใบหาง (จริงๆ แล้วลักษณะนี้ถือเป็นจุดเด่นของฟาร์มนี้ครับ เจอมาหลายตัวก็จะคล้ายๆ แบบนี้หมดคือ “เครื่องครีบ” ใหญ่) รวมถึง “ครีบอก” ด้านหน้าด้วย เวลาว่ายน้ำกางเบ่งบานดูแล้วงามสง่ามากครับ สีแก้มเป็นสีทองเด่นชัด… มาดูที่สีเกล็ด ลักษณะของ Base สีตัวนี้ดูเหมือนจะออกเป็น Blue Base หน่อยๆ นะครับ แต่ก็ยังไม่แน่ใจไว้ต้องคอยดูตอนใหญ่อีกครั้ง… แต่ยังไงก็ถือว่าได้ลุ้นแล้ว การเปิดของเกล็ดก็ไปได้ดีเลยทีเดียว ตอนนี้เกล็ดแถวที่ 5 เปิดเต็มแผงแล้วและมีปลายบริเวณแถวหก (ด้านหลังของปลา) และ “เกล็ดละเอียด” เล็กๆ ที่บริเวณใต้ครีบหลังก็ขึ้นเต็มหมดแล้ว ซึ่งเป็นกำลังใจได้ดีว่าเจ้านี่จะต้องข้ามหลังแน่ๆ… เพราะฉะนั้นตอนนี้ไม่ต้องลุ้นแล้วล่ะครับ รออย่างเดียวเลย
แต่ทว่าการจะหาปลาที่ Perfect สวยเด็ดไปทุกอณูเนื้อคงเป็นไปได้ยากครับ ความสวยงามส่วนใหญ่ของปลาวัดกันที่ความสมส่วนและใครมีตำหนิน้อยที่สุดครับ เจ้า Peter 3 ก็เช่น ถ้าพูดถึงเรื่องสวยแล้วก็สวยจริงครับแต่ “ตำหนิ” ก็มีกับเขาเหมือนกัน ตำหนิที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของเจ้านี่ก็คือ… ปากยื่น ไม่สบกันพอดี… ตาเอียงๆ กำลังจะตก 1 ข้าง… และมีบ้างที่เวลาว่ายน้ำจะ “หลังงอ” ให้เห็น แต่เรื่องรอยหักหรือการบิดเบี้ยวของครีบไม่มีครับ จากตำหนิที่ว่ามานี้พี่แวนก็ไม่ได้ซีเรียสอะไร อย่างเรื่อง “ตาตก” ก็ถือว่าเป็นตำหนิธรรมชาติของปลาชนิดนี้ซึ่งถ้าหากตั้งใจจะเลี้ยงจริงๆ ต้องยอมรับได้… ไม่งั๊นเลี้ยงๆ ไปก็มีแต่ปวดหัวและเครียดเปล่าๆ (คิดได้ถูกต้องมากครับ) ส่วนเรื่องปาก… ก็ไม่น่าวิตกเท่าไหร่ มันยังกินยังยิ้มได้พี่แวนก็ OK แล้ว… ที่น่าหนักใจหน่อยก็อาการสุดท้ายนี่แหละครับ “หลังงอ” ที่มักจะเป็นบ่อยๆ ทำให้ความสง่างามลดน้อยลงไป สำหรับอาการนี้ผมเองก็ตอบไม่ได้ครับว่าเป็นเพราะอะไร ? เจ้านี่ไม่ได้เป็นตั้งแต่เล็กๆ แต่เพิ่งมาเป็นได้ไม่นาน ตอนแรกเข้าใจว่าเป็นอุบัติเหตุจากการกระโดดกระแทกกับคานตู้ แต่พี่แวนว่าไม่น่าจะใช่เพราะไม่เคยเห็นเจ้า Peter 3 กระโดดเลย อีกอย่างก็ไม่เคยเกล็ดหลุดหรือหยุดกินอาหารให้เห็น ผมกับพี่แวนก็เลยยังงงๆ ตกลงแล้วเจ้านี่มีอาการแบบนี้จากสาเหตุอะไร ?… อย่าไปคิดมากเลยครับ พี่แวนบอกว่าตอนนี้มันกินดี มันขยันว่ายน้ำ มันขี้เล่น มันไม่นึ่งซึม เขาก็ OK แล้ว ได้ยินแบบนั้นผมค่อยสบายใจหน่อย เอาล่ะครับ ! ต่อไปมาดูปลาแดงใหญ่ตู้ข้างๆ กันบ้าง… ไปดูกันว่าปลาแดงตัวที่ว่าจะแดงสวยขนาดไหน ?
ที่ข้างๆ ตู้ของเจ้า Peter 3 เป็นที่อยู่ของเจ้า Peter 2… ปลาแดงตัวสวยของพี่แวน ผมขอเริ่มต้นด้วย Profile ของเจ้าตัวนี้ก่อนเลยนะครับ เจ้า Peter 2 เป็นปลาแดงเกรดพิเศษของฟาร์ม Xian Leng ซึ่งระบุชื่อตามใบเซอร์ว่า Special Grade Super Red โดยได้จากฟาร์มตะวันฉายซึ่งเป็นร้านที่นำเข้าปลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเวลานั้น จาการสอบถามพี่แวนก็ได้ความว่าตอนที่ได้มารู้สึกว่าจะมีขนาดประมาณ 7”-8” ซึ่งถือว่าเป็นปลาขนาดกลาง พี่แวนถูกใจในสีสันของมันที่เปล่งประกายความแดงชัดเจนต้องตาแล้ว ราคาค่าตัวของมันในวันนั้นก็ 55,xxx ครับ ถือได้ว่าเป็นปลาเกรดพิเศษที่ราคาไม่แพง (เดี๋ยวนี้พวกปลาเกรดพิเศษราคาอัพขึ้นมาเป็น 65,xxx – 85,xxx บาทแล้วครับ) ปลาตัวนี้พี่แวนเลือกด้วยตัวเองโดยผมไม่ได้ไปช่วยเลือกเหมือนเจ้า Peter 3… สายตาพี่แวนก็ไม่เบานะครับเพราะจากวันนั้นจนถึงวันนี้ก็ผ่านมา 2 ปีแล้ว ดูจากตัวปลาในภาพที่เห็นก็เชื่อได้เลยครับว่าการลงทุนครั้งนี้คุ้มค่าไม่เสียเวลาจริงๆ
ตามต่อด้วยสภาพตู้ที่เลี้ยง… ตู้ของเจ้า Peter 2 เป็นขนาด 72”x24”x24” กระจก 3 หุน การจัดวางของตู้เป็นแบบดำหมด (ฉากหลัง พื้น และด้านข้างของตู้เป็นสีดำ) ซึ่งเหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาแดงเพราะว่าจะช่วงส่งให้ปลาโดดเด่นที่สุดเมื่ออยู่ในตู้ หลอดไฟที่ใช้ๆ 2 หลอดครับ 1 หลอดแดด 12,000k และอีกหลอดเป็น Sylvania GroLux แต่ในขณะที่ถ่ายภาพเปิดหลอดไฟใต้น้ำอีก 2 หลอดโดยหลอดนึงติดที่คานบนและอีกหลอดติดที่คานล่าง เพื่อความปลอดภัยในกรณีไฟฟ้าดับในตู้นี้ก็มีระบบปั๊มลมสำรองไฟอัตโนมัติเช่นกันครับ มาดูเรื่องระบบกรองบ้าง… ระบบกรองของตู้เจ้า Peter 2 เป็นระบบกรองใต้ตู้ (คือเจาะตู้ลงมากรองด้านล่าง) และยังมีเครื่องนอกอีกตัวนึงซึ่งวัสดุกรองที่ใช้ก็เหมือนกับของตู้ Peter 3 คือ Substrate และ Ceramic Rings จะต่างกันก็แค่เรื่องของปริมาณการใช้ที่ระบบกรองใต้ตู้จะใช้มากกว่า และเป็นเพราะเนื้อที่ในการกรองมีขนาดใหญ่กว่าฉะนั้นจึงมีประสิทธิภาพมากกว่า ผลก็คือความถี่ในการเปลี่ยนน้ำจึงมีน้อยลง… สำหรับตู้เจ้าแดง Peter 2 พี่แวนบอกว่าเปลี่ยนน้ำปีละ 3 ครั้งเท่านั้นเอง (นั่นหมายถึง 4 เดือนเปลี่ยนน้ำทีนึง) นอกนั้นจะเป็นเติมน้ำในส่วนที่หายไปมากกว่า
ต่อไปมาวิจารณ์ตัวปลาบ้างนะครับ… เจ้า Peter 2 ในวันนี้เป็นปลาแดงที่มีขนาดใหญ่มากตัวนึงซึ่งถ้ากะจากสายตาแล้วก็น่าจะอยู่ที่ประมาณ 20”-21” โดยปกติแล้วปลาไซส์นี้น่าจะมีอาการของตำหนิให้เห็นอย่างเช่น ครีบเครื่องคดงอ ตาตก หนวดสั้นลง โดยเฉพาะ “ปากยื่น” ซึ่งถือเป็นตำหนิคู่ปลาแดงเกือบทุกตัว แต่กับเจ้า Peter 2 กลับไม่ปรากฏร่องรอยตำหนิอย่างที่ว่าเลยครับ เจ้านี่เป็นปลาใหญ่ที่สมบูรณ์มาก… หุ่นทรงเรียกได้ว่าสมส่วนอย่าง Perfect เลยทีเดียว หนวดยาว สีปลาดีมากโดยเริ่มตั้งแต่สีหนวด สีปาก สีแก้ม มาสีเกล็ดไล่มาจนสีของเครื่องครีบทั้งหมดเป็นสีแดงดูโดดเด่นมากครับ จากภาพจะสังเกตได้ว่าเจ้า Peter 2 ตาทั้งคู่สวยมาก… ไม่มีวี่แววว่าจะตกเลย เหงือกสวยโดยเฉพาะเหงือกอ่อนเพราะเห็นละอองความแดงเป็นประกายชัดเจน แต่ที่ประทับใจมากที่สุดเลยก็คือเรื่องของ “ปาก” ที่เจ้าแดงตัวนี้สบกันพอดีไม่มีเกยหรืองุ้มงอ นอกจากนี้เครื่องครีบยังใหญ่โตและไม่มีรอยหักหรือบิ่นเวลาว่ายน้ำก็กางเบ่งบาน จากภาพก็จะเห็นได้เลยนะครับว่าเจ้า Peter 2 มีท่วงท่าและลีลาการว่ายน้ำทีสวยงามมาก ด้วยเพราะว่าเจ้านี่เป็นปลาใหญ่ที่แทบไม่มีตำหนิให้เห็นเลย (แถมสีก็ยังแดงดี) ดังนั้นเจ้านี่จึงถือเป็นเป็นแดงในฝันของผมเลยทีเดียว
NOTE 1. : ตำหนิ “ปากยื่น” ถือเป็นตำหนิที่ยอมรับได้ในปลาแดงนะครับ โดยสามารถแสดงออกได้ในปลาทุกวัยไม่ว่าจะเป็นปลาเล็กหรือปลาใหญ่ ฉะนั้นหากเกิดขึ้นกับปลาของใครก็อย่าไปซีเรียสหรือท้อใจนะครับ ใครๆ เขาก็เป็นทั้งนั้น ผมเองก็เห็นปลา Xian Leng มามากและทุกครั้งก็สังเกตดูปากของปลาแดงทุกตัวแล้วก็พบว่าต่างก็ยื่นและเกยกันถ้วนหน้า… จะมีก็เจ้า Peter 2 ของพี่แวนนี่แหละครับที่ปากสวยสบกันพอดี
NOTE 2. : อาหารที่พี่แวนให้เจ้า 2 ตัวนี้ก็คือ “เนื้อกุ้ง” กับ “กุ้งฝอย” นะครับ โดยที่ทั้งคู่ถูกฝึกให้กินได้ทั้งเป็นและแบบแช่แข็ง ส่วนอาหารจำพวกแมลงอย่างเช่น หนอนนก จิ้งหรีด พี่แวนไม่ได้ใช้เพราะมองว่าเป็นภาระในการเลี้ยงดูและเก็บรักษา ดีแล้วล่ะครับเพราะอาหารที่ดีที่สุดสำหรับปลาแดงก็คือพวกกุ้งเพราะจะมีผลทำให้สีปลาแดงดีขึ้นได้ ส่วนปลาทองเลี้ยงด้วยอะไรจะให้กินอะไร… มันก็ทองครับ
เจ้า Peter 2 ไม่เหมือนกับเจ้าทอง Peter 3 อย่างนึงตรงที่มันมีเพื่อนร่วมตู้ไงล่ะครับ… และเพื่อนร่วมตู้ที่ว่าก็ไม่ใช่ใครที่ไหน มันก็คือเจ้า Crown Tetra หรือ “ปลาจักรพรรดิ์” ไงล่ะครับ เจ้าปลาตัวนี้ถือเป็น 1 ใน 3 ปลามหามงคลที่นักเลี้ยงนิยมนำมาเลี้ยงกับปลามังกรโดยปลาที่ว่านี้มี ปลาอินซีเน็ท (ปลาหงษ์)… Crown Tetra (ปลาจักรพรรดิ์) และ หลอฮั่น (Flower Horn) เพราะเชื่อว่าหากเลี้ยงด้วยกันได้จะนำสิ่งดีๆ กลับมาสู่ผู้เลี้ยงทั้งโชคลาภ วาสนา ทรัพย์สินเงินทองต่างๆ… แต่ทว่าอย่างหลังสุดนี่มักเลี้ยงด้วยกันไม่ค่อยได้ครับจะกัดกันเละเทะมากกว่า เจ้า Crown Tetra ตัวนี้มีขนาดแค่เพียง 6” กว่าเองทั้งที่มีอายุกว่า 2 ปีแล้ว (มาก่อนเจ้า Peter 2 นะครับ) ที่ยังตัวเล็กไม่ค่อยโตก็คงเพราะว่ากินไม่ค่อยดี พี่แวนให้แต่ปลากินเนื้อกุ้งก็คงจะมีเศษหลงเหลือเพียงนิดเดียวที่จะมาถึงมัน แต่จริงๆ แล้วการเลี้ยง Crown Tetra ให้โตเร็วๆ สีสวยๆ ต้องให้กิน “หนอนนก” นะครับ
Nanconnection